Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content
Financial Planning
Financial Planning: วางแผนเงินทองต้อนรับเปิดเทอม

หลังจากผ่านช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนอันเป็นเวลาแสนสุขของเด็กๆ ส่วนใหญ่ เพราะได้หยุดติดต่อกันนานร่วมเดือน หลายครอบครัวมีโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว และในช่วงเดียวกันนี้เอง น้องนักเรียนบางกลุ่มก็กำลังคร่ำเคร่งอยู่กับการเตรียมตัวสอบเข้าในระดับชั้นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 หรือมัธยมศึกษาปีที่ 4 และแน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญมากสำหรับน้องที่กำลังสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรี

เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายนจึงเป็นเดือนที่ค่อนข้างวุ่นวายทั้งสำหรับเด็กและผู้ปกครอง หากเป็น การเปิดเทอมเลื่อนระดับชั้นในสถานที่เรียนแห่งเดิม ผู้ปกครองอาจไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยมากเท่ากับการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษา เพราะนอกจากต้องหาสถานที่เรียนแห่งใหม่ที่ต้องการให้บุตรหลานเข้าเรียนแล้วยังตามมาด้วย การเดินทางที่ไกลบ้านมากขึ้น หรือบางครั้งอาจจำเป็นต้องย้ายไปเรียนในจังหวัดอื่นทำให้ต้องโยกย้ายที่อยู่ ดังนั้นเพื่อความพร้อมสำหรับเปิดเทอมใหม่ ไปดูกันว่าคุณพ่อคุณแม่ต้อง เตรียมตัวด้านใดบ้าง
1. เตรียมรับมือกับการปรับตัว

เพราะการเปลี่ยนระดับชั้นเรียน ตามมาด้วยการเปลี่ยน กลุ่มเพื่อนในโรงเรียน รวมถึงอาจารย์ประจำชั้นเรียน เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ไม่เพียงแต่เด็กที่ต้องปรับตัว คุณพ่อคุณแม่เองก็เช่นกันที่ต้องปรับตัวและคอยสังเกต พฤติกรรมการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่ของลูกว่าเป็นอย่างไรบ้าง ลูกของเรา มีความสุข สนุกไหม หรือซึมเศร้า โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องย้ายที่พักไปเรียนไกลจากบ้าน

2. วางแผนการเดินทางไปโรงเรียน

สำหรับน้องๆ ที่ย้ายโรงเรียน ผู้ปกครองอาจต้องวางแผน การเดินทางใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่ตั้งของโรงเรียน หากอยู่ไกลบ้านมาก บางครอบครัวอาจเลือกใช้บริการ รถรับส่งที่ทางโรงเรียนจัดเตรียมไว้ให้ แต่หากลูกโตพอ ที่จะเดินทางได้ด้วยตนเอง และโรงเรียนอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ หรือเขตตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ อาจเป็นครั้งแรกที่ลูกต้องเดินทางไปเรียนเอง โดยเลือกใช้บริการรถสาธารณะแทนการขับรถรับส่ง

3. เตรียมความพร้อมกับค่าใช้จ่ายต่างๆ

แน่นอนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเปิดเทอมในแต่ละครั้งมีเรื่องให้ต้องใช้เงินจำนวนไม่น้อย บางบ้านที่ยังเตรียมตัวไม่พร้อมสำหรับวันเปิดเทอม อาจประสบกับภาวะขาดสภาพคล่องในการจับจ่าย จนต้องหันไปใช้บริการ เงินด่วนจากแหล่งต่างๆ สำหรับตัวอย่างค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นช่วงเปิดเทอมมีดังนี้

  • ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา สำหรับโรงเรียนรัฐบาล แม้ว่าจะมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนจากทางภาครัฐ แต่ผู้ปกครองยังคงต้องเตรียมงบสำหรับค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาในรูปแบบอื่น อาทิ ค่าบำรุงโรงเรียน/ห้องสมุด ค่าอุปกรณ์ ประกอบการศึกษา ค่ากิจกรรมของโรงเรียน / ค่าทัศนศึกษา เป็นต้น ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนเอกชน คุณผู้ปกครองสามารถเตรียมล่วงหน้าไว้ได้เลย เพิ่มอีกสักสองถึงสามเท่า
  • ค่าอุปกรณ์เครื่องแต่งกาย เช่น ชุดนักเรียน ชุดกีฬา รองเท้านักเรียน รองเท้ากีฬา ถุงเท้า กระเป๋านักเรียน อุปกรณ์เครื่องเขียน เป็นต้น เนื่องจากเด็กๆ อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต ร่างกายมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องปรับขนาดเสื้อผ้าตามการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการเสริมทักษะด้านอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนพิเศษเพิ่มจากสถาบันกวดวิชาภายนอก การเรียนภาษาต่างประเทศอย่างภาษาจีนหรือภาษาญี่ปุ่น รวมไปถึงการเพิ่มทักษะทางด้านดนตรี หรือกีฬาซึ่งประการหลังนี้จะพ่วงมาด้วยค่าเครื่องดนตรีหรืออุปกรณ์กีฬา
  • ค่าใช้จ่ายรายเดือน ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหารการกิน ค่าเดินทาง เป็นต้น สำหรับกรณีที่ลูกต้องย้ายที่อยู่ ไปเรียนไกลบ้าน ยังต้องคำนึงถึงค่าที่พักอาศัย และค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย เช่น ค่าเช่าหอพัก อพาร์ทเมนท์ หรือคอนโดมิเนียม ซึ่งมีสิ่งที่ตามมาคือค่าสาธารณูปโภค ต่างๆ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าซักรีด เสื้อผ้า เป็นต้น
 
 
 

ในการเตรียมความพร้อมทางการเงินช่วงเปิดเทอมนี้ หากคุณพ่อคุณแม่ได้มีการสำรองเงินไว้เพียงพอสำหรับปีปัจจุบันแล้วและยังมีเงินเหลือส่วนเกิน คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มต้นวางแผนเก็บเงินค่าเทอมล่วงหน้าได้ การทยอยออมเงินระหว่างทางจะช่วยแบ่งเบาภาระของปีถัดไป ซึ่งโดยทั่วไปการออมเงินเพื่อการศึกษาบุตรทำได้หลายรูปแบบ ยกตัวอย่าง รูปแบบแรกเป็นการออมเพื่อค่าใช้จ่ายการศึกษาทุกระดับชั้น วิธีการคือ คำนวณค่าใช้จ่ายการศึกษาทุกระดับจนศึกษาจบ และเริ่มต้นออมไปเรียนไปตั้งแต่วันนี้ วิธีนี้จำนวนเงินที่ต้องเก็บในช่วงแรกค่อนข้างสูง แต่จะลดลงเรื่อยๆ ในปีถัดไป ส่วนรูปแบบที่ 2 เป็นการออมแยกทีละระดับชั้นหรือวางแผนล่วงหน้ารายปี วิธีนี้จะช่วยให้จำนวนเงินออมสอดคล้องกับระดับชั้นเรียนและยังสอดคล้องกับการเติบโตของรายได้ผู้ปกครองด้วย โดยอาจสะสมไว้ในบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพื่อรักษาความปลอดภัยของเงินต้น ส่วนรูปแบบที่สามคือ ออมบวกคุ้มครอง เหมาะสำหรับสร้างหลักประกันให้กับลูกน้อยว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ลูกก็ยังได้เรียนจนจบการศึกษาตามที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจ

การศึกษาเป็นค่าใช้จ่ายตัวสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ต้องวางแผน เพราะมีหลากหลายรูปแบบและมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน “วางแผนดี” มีโอกาสสูงที่ลูกจะจบการศึกษาได้ในระดับที่คุณพ่อคุณแม่ตั้งใจ



AUTHOR


ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษา
ลูกค้าบุคคล (K-Expert)

RELATED STORY